ปัจจุบันคนหันมาตื่นตัวกับผลกระทบที่เกิดจากปัญหาสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ทำให้เทรนด์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนั้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวันของเรายิ่งขึ้น สอวช. จะพามาดู 5 เทคโนโลยี ที่สามารถช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้กัน
1. Metallic Trees ต้นไม้ฝีมือมนุษย์กับภารกิจการจัดการวิกฤตสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง : ต้นไม้โลหะ (Metallic Trees) ช่วยในการดักจับและกักเก็บคาร์บอน ที่สามารถดูดซับคาร์บอนได้มากกว่าต้นไม้ตามธรรมชาติถึง 1,000 เท่า โดยมีกระบวนการทำงานเริ่มด้วยการใช้เรซินเคมีรวบรวมและกักเก็บคาร์บอนเอาไว้ในขณะที่ยังแห้งอยู่ ซึ่งต้นไม้จะรวบรวมคาร์บอนด้วยวิธีแห้งนี้ประมาณ 20 นาที แล้วจึงนำแผ่นเรซินหย่อนลงไปในภาชนะที่บรรจุน้ำและไอน้ำ ภาชนะดังกล่าวจะกักเก็บคาร์บอนเอาไว้และแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ อย่างไรก็ตาม ต้นไม้โลหะนี้เป็นผลงานวิจัยของศาสตราจารย์ Klaus Lackner จากมหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา และยังอยู่ในขั้นทดสอบอยู่
2. ศูนย์กลางการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะด้วยแพลตฟอร์ม AIS E-Waste+ : แพลตฟอร์มที่นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยสามารถช่วยทำให้กระบวนการในการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์มีประสิทธิภาพ ทั้งฟังก์ชันในการติดตามสถานะของขยะทุกชิ้น หรือแม้แต่การคำนวณออกมาเป็น Carbon Score หรือปริมาณการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายหลังจาก E-Waste ถูกกำจัดและรีไซเคิลแบบ Zero E-Waste to Landfill ได้แบบ Real Time โดยผลงานนี้เป็นผลงานของ AIS ที่ทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์กว่า 200 องค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ HUB of E-Waste หรือศูนย์กลางการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของไทยด้วย
3. อาหารและเครื่องดื่มที่ผลิตด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี : อาหารที่นำนวัตกรรมเข้ามามีส่วนช่วยในการผลิต เช่น อาหารโปรตีนจากห้องปฏิบัติการ (Lab-Grown Protein) ผลิตภัณฑ์อาหารจากพืช (Plant-based Food) เป็นต้น โดยอาหารประเภทดังกล่าว ถูกพัฒนาให้มีรสชาติ กลิ่น และสีสันคล้ายกับเนื้อสัตว์ โดยใช้วัตถุดิบจากพืชที่ให้โปรตีนสูง ซึ่งเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคที่ต้องการลดการรับประทานเนื้อสัตว์ นอกจากนี้ยังช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากก๊าซเรือนกระจกที่มาจากการทำฟาร์มปศุสัตว์อีกด้วย
4. Solar Glass กระจกกักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ได้ : บล็อกแก้วอเนกประสงค์สำหรับการใช้งานในการก่อสร้างอาคาร เพื่อตอบโจทย์ 3 วัตถุประสงค์ คือ ผลิตกระแสไฟฟ้า ให้แสงสว่างในเวลากลางวัน และเป็นฉนวนกันความร้อน โดยในบล็อกแก้วได้บรรจุโซล่าร์เซลล์ขนาดเล็กไว้ภายในถึง 13 ตัว ทำให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าและนำไฟฟ้าออกไปใช้นอกตัวอาคารได้ผ่านเทคโนโลยีที่เรียกว่า Building Integrated Photovoltaics ที่ใช้สายใยแก้วช่วยในการรวบรวมแสงอาทิตย์ให้ตกกระทบไปทั่วโซล่าร์เซลล์ เพื่อทำให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากที่สุดจากโซลาร์เซลล์ในแต่ละตัว โดยผลงานนวัตกรรมชิ้นนี้ถูกพัฒนาขึ้นโดย Hasan Baig ผู้ก่อตั้งบริษัท Build Solar
5. HybriT Green Steel เทคโนโลยีการผลิตเหล็กสีเขียว ปราศจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก : เทคโนโลยีในการผลิตเหล็กกล้าโดยใช้ไฮโดรเจนมาแทนกระบวนการผลิตเหล็กแบบเดิมที่ปล่อยคาร์บอนจากเตาหลอมและถ่านหินทำให้ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมา โดยนวัตกรรมนี้เป็นความร่วมมือจากหลายบริษัทในอุตสาหกรรมถลุงเหล็กในเมืองลูเลีย (Luleå) ทางตอนเหนือของสวีเดน เพื่อต้องการที่จะลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกและเป็นต้นแบบในการผลิตเหล็กแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยได้มีการดำเนินการติดตั้งโรงกักเก็บไฮโดรเจนต้นแบบที่ถูกฝังลึกใต้ดินลงไปกว่า 30 เมตร ซึ่งถือว่าเป็นแห่งแรกของโลกที่สามารถทำได้ โดยมีความสามารถในการจัดเก็บไฮโดรเจนได้ 100 ลูกบาศก์เมตร และในอนาคตจะตั้งให้มีความจุมากขึ้นเป็น 100,000 – 120,000 ลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ สวีเดนคาดการณ์ว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะสามารถลดการปล่อยคาร์บอนในประเทศลงได้ถึง 10% นอกจากนี้สวีเดนยังมีเป้าหมายในการนำ Green Steel ส่งออกสู่ตลาดในระดับภาคอุตสาหกรรมให้ได้อีก 2 ปีข้างหน้า หรือภายในปี พ.ศ. 2569 อีกด้วย
เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการเพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อมในสังคมมากขึ้น ในส่วนของ สอวช. มีการส่งเสริมนโยบายเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในหลายโครงการ อาทิ การสนับสนุนการขับเคลื่อน “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” พื้นที่นำร่องนวัตกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในจังหวัดสระบุรี โดยได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบูรณาการความร่วมมือการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพัฒนาเขตนวัตกรรม Net Zero Emission ระหว่าง สอวช. และ สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) รวมถึง “โครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัย ขับเคลื่อนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Campus” โดยมีกว่า 170 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ที่จะสามารถขยายนวัตกรรมต้นแบบที่มีศักยภาพถ่ายทอดออกสู่สังคมและชุมชนวงกว้างได้
ที่มา : https://www.seub.or.th/bloging/news/global-news/2023-118/ https://www.bangkokbiznews.com/corporate-moves/tech/innovation/1129203 https://mbamagazine.net/index.php/entrepreneurship/scoop/item/5307-4 https://www.nxpo.or.th/th/24881/ และ https://www.nxpo.or.th/th/23988/