เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 ดร.ธนาคาร วงษ์ดีไทย นักยุทธศาสตร์ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) นายจิตรพงศ์ พุ่มสอาด ผู้อำนวยการกองพัฒนาผู้ฝึกและเทคโนโลยีการฝึก กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และนายธีรศักดิ์ อยู่เพชร ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ (AHRDA) กระทรวงแรงงาน ร่วมประชุมหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อการสร้างความร่วมมือการพัฒนากำลังคนด้านยานยนต์ไฟฟ้า ตามนโยบายการพัฒนาทักษะกำลังคนเพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV-HRD) ของกระทรวง อว. ณ ห้องประชุมสมชาติ เลขาลาวัณย์ ชั้น 10 อาคารกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน โดยการประชุมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมให้ข้อคิดเห็นจากหลายภาคส่วน เช่น กลุ่มงานพัฒนาหลักสูตรและเทคโนโลยี กลุ่มงานพัฒนาสถานฝึกและครุภัณฑ์การฝึก กลุ่มงานพัฒนาหลักสูตร (กพท.) และกองแผนงานและสารสนเทศ กระทรวงแรงงาน
ดร.ธนาคาร กล่าวว่า การพัฒนาทักษะกำลังคนเพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV-HRD) เป็นนโยบายจากกระทรวง อว. ที่มุ่งพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในอุตสาหกรรม โดยตั้งเป้าหมายในการพัฒนากำลังคน 150,000 คนในช่วง 5 ปี และพัฒนากำลังคนวัยทำงานและกำลังคนที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน 5,000 คนใน 1 ปี เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงจากอุตสาหกรรมยานยนต์สันดาปหรือ ICE ไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าหรือ EV และอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ โดยที่ผ่านมา สอวช. ได้ร่วมผลักดันและดำเนินงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านกลไกต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนและทักษะร่วมกับมหาวิทยาลัย
นายจิตรพงศ์ กล่าวว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้เริ่มจัดฝึกอบรมช่างซ่อมบำรุงรถยนต์โดยมีหลักสูตรการฝึกอบรมที่มีความหลากหลาย เพื่อตอบสนองต่อความต้องการฝึกอบรมของช่างซ่อมบำรุงอู่รถยนต์ที่มีความสนใจด้านการซ่อมบำรุงรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งแสดงถึงโอกาสการเติบโตในอนาคต
ด้านนายธีรศักดิ์ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของความร่วมมือควรให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยและการซ่อมบำรุงยานยนต์ไฟฟ้าเป็นอันดับแรก เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ทั้งต่อผู้ใช้งานและช่างซ่อมบำรุง นอกจากนี้ยังกล่าวถึง ตำแหน่งงานใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อาทิ ช่างติดตั้งตามศูนย์บริการรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งในปัจจุบันยังมีบุคลากรด้านนี้ไม่มากนัก ดังนั้นกระทรวงแรงงานจึงส่งเสริมหลักสูตรการฝึกอบรมด้านยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น
จากการหารือในที่ประชุม สอวช. ได้มีการเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาหลักสูตรและมาตรฐานฝีมือแรงงานร่วมกัน โดยมุ่งหวังที่จะสร้างความร่วมมืออย่างต่อเนื่องกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาคเอกชน ภาครัฐและสถาบันการศึกษา เพื่อผลิตกำลังคนที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมด้านทักษะและความรู้ที่เพียงพอในการดำเนินงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยต่อไป