กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ครั้งที่ 86 (The 86th Meeting of ASEAN Committee on Science, Technology, and Innovation: COSTI-86) และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 7 – 11 ตุลาคม 2567 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ โดย Agency for Science, Technology and Research (A* STAR) และ Ministry of Trade and Industry (MTI) สาธารณรัฐสิงคโปร์ร่วมกันเป็นเจ้าภาพ
ดร.ปราณปรียา ศรีวรรณวิทย์ ลุนด์แบร์ย ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศ สอวช. ทำหน้าที่ผู้แทนประเทศไทย ในการประชุมคณะที่ปรึกษาของคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ครั้งที่ 17 (Board of Advisers to Committee on Science, Technology and Innovation: BAC – 17) โดยมี ดร.ดวงกมล พิหูสูตร นักพัฒนานโยบาย สอวช. เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว รวมทั้งการประชุมคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ครั้งที่ 86 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
การประชุม BAC – 17 มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) แนะนำผู้แทนภาคเอกชนจาก 3 ประเทศ ซึ่งเข้าร่วมในคณะที่ปรึกษาของคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นครั้งแรก 2) รายงานความก้าวหน้าการทำงานของคณะที่ปรึกษา 3) รายงานความก้าวหน้าและสถานะของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอาเซียน (ASEAN Science, Technology, and Innovation Fund; ASTIF) 4) ติดตามความก้าวหน้าโครงการ Annual Priority ปี 2024 และนำเสนอโครงการปี 2025 และ 5) พัฒนาแผนปฏิบัติการอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม พ.ศ. 2569-2578 (ASEAN Plan of Action on Science, Technology, and Innovation: APASTI 2026-2035)
ในการประชุม ดร.ปราณปรียา ได้ให้ความเห็นในประเด็นที่มีการเสนอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานย่อยเพิ่มเติมสำหรับ BAC โดยแนะนำให้ศึกษากลไกการทำงานขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ที่มีรูปแบบการทำงานร่วมกันที่ดี และเสนอให้เพิ่มเวลาการหารือของ BAC เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการประชุมแต่ละครั้ง นอกจากนั้น ดร.ปราณปรียา ยังได้ให้การสนับสนุนที่ประชุม ในการเลือกใช้ Global Innovation Index (GII) เพื่อเป็นตัวชี้วัดของเป้าหมายของคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (COSTI Aspiration) โดยไม่ใช้ Gross domestic expenditure on R&D (GERD) เพื่อให้เกิดความครอบคลุมในแง่ของความพร้อมของข้อมูลของทั้ง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งนี้ ประเทศไทยมีข้อมูลที่ครบทั้ง GERD และ GII
สำหรับการประชุม COSTI-86 ซึ่งเป็นการระดับสูงประกอบด้วยผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีความเกี่ยวข้องกับด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สำหรับประเทศไทยนำโดย ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานปลัดกระทรวง อว. (สป.อว.) สอวช. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) สถาบันวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์ (สทน.) เข้าร่วมรับฟังและให้ข้อมูลระหว่างการประชุมด้วย โดย สอวช. มีบทบาทในการสนับสนุนข้อมูลเชิงนโยบายให้แก่ปลัดกระทรวง อว.