รู้หรือไม่ว่า…ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสนใจโปรตีนทางเลือกมากขึ้น เห็นได้จากแนวโน้มที่ทั่วโลกมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกเพิ่มขึ้นในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา โดยมีการสรรหาวัตถุดิบใหม่ ๆ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงกันมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังพบว่าในต่างประเทศมีการยื่นจดสิทธิบัตรเพิ่มขึ้น โดยมี 3 ผู้เล่นสำคัญ ที่ยื่นจดสิทธิบัตรได้แก่ Abbott Cargill และ Nestle
ตัวอย่างแนวโน้มการสกัดโปรตีนจากแหล่งวัตถุดิบใหม่ เช่น Single-cell/Microorganism Protein โปรตีนที่ผลิตได้จากจุลินทรีย์ Insect-based Proteins โปรตีนที่ผลิตได้จากแมลง Plant-based Proteins โปรตีนที่ผลิตได้จากพืช และ Lab-grown Meat โปรตีนที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสเต็มเซลล์ (Stem Cell) ของสัตว์ ภายนอกร่างกายของสัตว์นั้น ๆ
ส่วนตัวอย่างแนวโน้มการพัฒนาผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือก เช่น High Protein การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้โปรตีนที่มากขึ้น, Hydrolysate / Protein r การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ได้โปรตีนที่มีความบริสุทธิ์ มีกรดอะมิโนจำเป็นในปริมาณสูง โมเลกุลเล็กร่างกายดูดซึมไปใช้ได้ดีที่สุดและรวดเร็ว รวมถึง Nutritional/Functional Composition หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีสารอาหารสำคัญ เป็นต้น
ขณะที่แนวโน้มการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกของไทยในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ยังพบว่ามีจำนวนน้อยและส่วนใหญ่จดเป็นอนุสิทธิบัตร โดยหัวข้อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ “โปรตีนไฮโดรไลเสต” มากที่สุด
ด้านการจดยื่นสิทธิบัตรและอนุสิทธิสิทธิบัตรเทคโนโลยีในผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือก ไทยยังมีการจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรไม่มากนัก โดยผู้ประกอบการนิยมยื่นจดอนุสิทธิบัตรมากกว่าเนื่องจากมีขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อน รวดเร็ว และหากต้องดำเนินการทางด้านกฎหมายจะสามารถดำเนินการได้เร็วกว่า ซึ่งผู้เล่นสำคัญ 3 ลำดับแรกที่มีการยื่นจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรมากที่สุด ได้แก่ 1. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 2. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ 3. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมหาวิทยาลัยนเรศวร
ขณะที่แนวโน้มการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการสกัดโปรตีนจากแหล่งวัตถุดิบของไทย พบว่า ประเทศไทยนิยมสกัดโปรตีนจากถั่วเหลือง รำข้าว สาหร่าย และข้าว นอกจากนี้ เอกชนได้จดสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับ Single cell จากจุลินทรีย์ที่เป็นการใช้เทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงอีกด้วย แต่มีเพียงแค่ 1 ฉบับเท่านั้น
ส่วนแนวโน้มการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกของไทย พบว่า โปรตีนที่มีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มากที่สุด คือ โปรตีนไฮโดรไลเสต ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีความบริสุทธิ์ มีกรดอะมิโนจำเป็นในปริมาณสูง รวมทั้งมีโมเลกุลเล็กทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้ดีที่สุดและรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังพบว่าเอกชนไทยได้จดสิทธิบัตรผลิตเนื้อเทียมจากพืชอีกด้วย แต่มีเพียงแค่ 1 ฉบับเท่านั้น